วัดและอารามหลวงในไทยถูกแบ่งระดับอย่างไร
เชื่อว่าน่าจะมีหลายคนเกิดความสงสัยในชื่อของวัดไทยหลายๆ ชื่อที่เรามักจะเห็นว่าคำลงท้ายของแต่ละวัดมีความแตกต่างกันออกไป ซึ่งคำลงท้ายที่แตกต่างกันนี้เองคือสิ่งที่บ่งบอกระดับชั้นของวัดนั้นๆ เอาไว้ว่าแต่ละวัดมีระดับความหมายเอาไว้อย่างไรบ้าง แต่เดิมวัดไทยยังไม่ได้มีการแบ่งระดับชั้นของพระอารามหลวงอย่างเป็นรูปแบบทางการ แต่จะมีการจัดแบ่งชั้นของพระอารามหลวงออกเป็นหลากหลายชั้นตามการคาดเดาที่ไม่แน่นอน จนกระทั่งในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้มีการทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดระเบียบแบ่งชั้นของพระอารามหลวงขึ้น โดยมีการแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ชั้น ดังนี้
“พระอารามหลวงชั้นเอก” – เป็นวัดที่มีเจติยสถานสำคัญ ภายในวัดจะบรรจุพระบรมอัฐิหรือเป็นวัดที่มีเกียรติอย่างสูง มีเจ้าอาวาสเป็นระดับราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ขึ้นไป จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ
- ราชวรมหาวิหาร
- ราชวรวิหาร
- วรมหาวิหาร
“พระอารมหลวงชั้นโท” – เป็นวัดที่มีเกียรติ มีเจ้าอาวาสเป็นระดับชั้นพระราชาคณะสามัญขึ้นไป จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ คือ
- ราชวรมหาวิหาร
- ราชวรวิหาร
- วรมหาวิหาร
- วรวิหาร
“พระอารามหลวงชั้นตรี” – เป็นวัดที่มีเกียรติหรือวัดสามัญ เจ้าอาวาสเป็นระดับพระครูชั้นสูงขึ้นไป สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ
- ราชวรวิหาร
- วรวิหาร
- แบบไม่มีชื่อสร้อยลงท้าย
อย่างไรก็ตามความหมายของชื้อสร้อยลงท้ายก็มีความหมายที่แตกต่างอันบ่งบอกถึงสิ่งที่ทำให้รู้ระดับของวัดแต่ละวัด โดยความหมายของคำสร้อยที่ว่าประกอบไปด้วย
- ราชวรมหาวิหาร – เป็นพระอารามที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช ได้ทรงสร้างหรือทำการปฏิสังขรณ์แบบเป็นการส่วนพระองค์ โดยสิ่งปลูกสร้างที่ว่านี้จะมีขนาดใหญ่โตสมพระเกียรติของพระองค์ท่านที่ได้ทรงสร้างเอาไว้
- วรมหาวิหาร – จะเป็นไปในลักษณะเดียวกับแบบราชวรมหาวิหารคือกษัตริย์ชั้นผู้ใหญ่ทรงเป็นผู้สร้างหรือปฏิสังขรณ์ ทว่าอาจจะมีความสำคัญในบางประการน้อยกว่านิดหน่อย
- ราชวรวิหาร – ซึ่งพระอารามที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช ทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์เป็นการส่วนพระองค์
- วรวิหาร – คือพระอารามที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช ทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์แล้วทรงพระราชทานเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้อื่น
จากสิ่งที่ได้สรุปมาทั้งหมดน่าจะทำให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่าทำไมวัดในประเทศไทยแต่ละวัดจึงมีชื่อลงท้ายที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามกับการที่คนไทยส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชน การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเอาไว้ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องกระทำด้วยกันทุกคน